phone

เลี้ยงลูกอย่างไรให้มี EQ ดี

เลี้ยงลูกอย่างไรให้มี EQ ดี  

ปัจจัยที่ส่งผลต่อพัฒนาการเด็กมี ๓ ประการ คือ
พันธุกรรม เป็นสิ่งที่ติดตัวมากับเด็กตั้งแต่เกิด
สิ่งแวดล้อม เด็กที่ถูกเลี้ยงในสภาพแวดล้อมต่างกัน มีความสามารถและเฉลี่ยวฉลาดแตกต่างกัน
อาหาร การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เด็กได้รับสารอาหารครบถ้วน และเพียงพอ ทำให้เด็กมีการเจริญเติบโตดี และพัฒนาการก็ดีตามมาด้วย
 
การส่งเสริมพัฒนาการโดยกระตุ้นประสาทสัมผัสทั้ง ๕ได้แก่
การสัมผัสทางกาย ได้แก่ การอุ้มกอดด้วยความรัก นุ่มนวล ทำให้เด็กรับรู้ได้ถึงความอบอุ่น มั่นคง และปลอดภัย จัดท่านอนเพื่อให้เด็กนอนหลับสบาย เด็กพักผ่อนได้เต็มที่
สัมผัสทางเสียง พูดคุยกับเด็ก ร้องเพลง หรือเปิดเพลงให้ฟังเบาๆ ในระดับเสียงไม่ดังเกินไป         
สัมผัสทางการลิ้มรส 
เด็กที่ได้รับนมแม่ จะคุ้นเคยกับรสชาดของน้ำนมแม่

สัมผัสทางการดมกลิ่น เด็กที่ได้รับนมแม่จะคุ้นเคยกับกลิ่นน้ำนมและกลิ่นกายของคุณแม่
สัมผัสทางสายตา อุ้มเด็กไว้ใกล้ๆบริเวณใบหน้า พูดคุยและจ้องมองเด็ก ขยับใบหน้าไปมาให้เด็กมองตาม หรือให้จ้องมองของเลานที่มีสีสดใส
 
พัฒนาการตามวัย
ทารกแรกเกิด เด็กจะจ้องใบหน้าเมื่อผู้ใหญ่ยื่นหน้าเข้าไปใกล้ และสามารถจดจำใบหน้านั้นได้ เมื่อได้ยินเสียงก็จะมองหาและพยายามมองตามใบหน้าของผู้ใหญ่ที่เคลื่อนไหว
อายุ ๑ เดือน หากยื่นหน้าเข้าใกล้ทารกในระยะมองเห็น(ประมาณ ๑ ฟุต) ทารกจะเมองใบหน้า และหากพูดคุยด้วยทารกก็จะพยายามขยับริมฝีปาก ถ้าหากทารกร้องไห้ก็จะเงียบเมื่อมีคนอุ้มเข้าสู่อ้อมกอด   
อายุ ๑ เดือนครึ่ง ทารกจะยิ้มให้ และจะมองตามของเล่นที่เคลื่อนที่ได้ เช่น โมบาย
อายุ ๒ เดือน ทารกจะมองตามกรุ๋งกริ๋งที่เคลื่อนผ่านสายตาไปมา ทารกบางคนถือกรุ๋งกริ๋งชิ้นเล็กๆที่มีน้ำหนักเบาไว้ในมือได้
อายุ ๓ เดือน ทารกจะยิ้มเมื่อมีคนพูดคุยด้วย และสามารถส่งเสียงตอบอ้อแอ้อย่างอารมณ์ดี
อายุ ๔ เดือน ชอบหยิบของเล่นเข้าปาก หัวเราะเสียงดังเมื่อมีคนเล่นด้วย พลิกคว่ำได้ ชอบให้จับลุกขึ้นนั่ง
อายุ ๕ เดือน ใช้แขนสองข้างยกอกพ้นพื้นได้ หมุนตัวไปรอบๆที่นอน เมื่อจับลุกขึ้นยืนเท้าทั้งสองข้างจะวางบนพื้น
อายุ ๖ เดือน ทารกบางคนสามารถนั่งได้ ชอบเล่นกระจกเงา ชอบเลียนแบบเล่นริฝีปาก เดาะลิ้น บางคนชอบเล่นน้ำลายเป็นฟอง
อายุ ๗ เดือน นั่งได้มั่นคง ทารกบางคนจะกลัวคนแปลกหน้า
อายุ ๘ เดือน เริ่มคลานได้ รู้จักชื่อตัวเอง เริ่มเข้าใจคำว่า “อย่า”หรือ “ไม่”เริ่มหัดพูด
อายุ ๙ เดือน เริ่มแสดงความต้องการโดยการชี้หรือสื่อให้ผู้เลี้ยงดูทราบว่าตนต้องการอะไร เริ่มสำรวจสิ่งของที่อยู่ในตู้เก็บของ ลิ้นชักโต๊ะหรือในกล่อง เหนี่ยวเฟอร์นิเจอร์ลุกขึ้นยืนเองได้
อายุ ๑๐ เดือน เริ่มตบมือได้ บ๊ายๆได้ เริ่มเข้าใจคำพูดง่ายๆสั้นๆ เกาะยืนได้
อายุ ๑๑ เดือน เริ่มตั้งไข่  ชอบส่งเสียงดัง ชอบโยนของเล่น
อายุ ๑๒ เดือน เริ่มเดินได้  เริ่มพูดเป็นคำ ชอบดูภาพในหนังสือ เริ่มฟังประโยคสั้นๆเข้าใจ 
อายุ ๑๕ เดือน เริ่มเลียนแบบผู้ใหญ่ ช่วยงานบ้าน เช่น ปัดฝุ่น เข้าใจความหมายของประโยคที่ผุ้ใหญ่
อายุ ๑๘ เดือน ชี้รูปภาพสัตว์หรือสิ่งของใกล้ตัวในหนังสือ บางครั้งพูดออกเสียงได้ถูกต้อง เริ่มรู้จักส่วนต่างๆของร่างกายและชี้บอกได้
อายุ ๒๑ เดือน เริ่มจับดินสอขีดเขียนเล่น เข้าใจคำสั่งง่ายๆและสามารถปฏิบัติตามคำสั่งได้
อายุ ๒ ปี เด็กจะชอบทำสิ่งต่างๆด้วยตัวเอง เช่น รับประทานอาหารเอง เลือกเสื้อผ้าเอง เด็กบางคนชอบวิ่งเล่นกลางสนาม ชอบเล่นนอกบ้าน

การส่งเสริมพัฒนาการ

การอ่านหนังสือให้ลูกฟัง
          การอ่านหนังสือให้ทารกฟังตั้งแต่เล็ก ดูรูปถาพและพลิกหนังสือไปพร้อมๆกันทีละหน้า ทำความรู้จักกับเนื้อหาต่างๆในหนังสือ ทำให้เกิดการเรียนรู้สิ่งที่เป็นประโยชน์ ปลูกฝังนิสัยรักการอ่านตั้งแต่เยาว์วัย ทำให้เด็กผ่อนคลายและเพลิดเพลินไม่ติดทีวีเมื่อโตขึ้น  หนังสือพลาสติกนิ่มๆหนาประมาณ ๔ หน้า เหมาะสำหรับทารกวัยเริ่มฝึกพูค อายุต่ำกว่า ๑ ปี เมื่ออายุเกิน ๑ ปี ควรเป็นหนังสือปกแข็ง เพราะฉีกขาดยาก หรือบัตรคำเพื่อใช้ฝึกพูดเป็นคำๆ เมื่อถึงวัยอนุบาลลักษณะหนังสือที่อ่านก็จะเป็นนิทานที่มีเนื้อหาไม่ยาวมากนัก เด็กชอบฟังนิทานเรื่องเดิมซ้ำหลายๆครั้งจนจำได้และสามารถเล่าให้คนอื่นฟังได้ด้วย
 
 
ปล่อยให้ลูกเป็นฝ่ายชี้นำ
            พยายามดึงจุดเด่นของเด็กออกมา และช่วยเหลือพัฒนาจุดด้อยของเด็กให้ดีขึ้น ให้ความช่วยเหลือเมื่อเขาต้องการ ไม่ควรให้การช่วยเหลือหรือยัดเยียดสิ่งที่เด็กไม่ต้องการหรือไม่ชอบ ดังนั้น ผู้ใหญ่จึงช่วยให้ถูกวิธี ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นการบงการ เด็กควรจะได้เรียนรู้สิ่งที่ตนสนใจ ไม่ใช่เรียนรู้ตามความต้องการของผู้เลี้ยงดู
 
 
การเรียนรู้และการเล่นสนุก
           การเล่นของเด็กก็คือการเรียนรู้ เด็กได้ฝึกทักษะการใช้มือจากการหยิบจับของเล่น การเล่นกับเด็กคนอื่นๆสอนให้เด็กเข้าใจความสำคัญของการปรับตัวเข้าสังคม รู้จักการควบคุมอารมณ์ การแบ่งปัน การแก้ปัญหา การใช้ภาษา การเล่นสนุกช่วยให้เด็กมีพัฒนาการด้านร่างกายและสติปัญญา ช่วยให้กล้ามเนื้อแข็งแรงขึ้น และพัฒนาระบบประสาทการมองเห็น การได้ยิน และการทรงตัวอีกด้วย
           เด็กที่มีสมาธิดีมักจะมีการเรียนรู้ที่ดี แต่บางครั้งอาจจะมีปัญหาบ้างเมื่อต้องการทำสิ่งที่ยากเกินไป ควรให้ความช่วยเหลือโดยแสดงให้ดูว่าทำอย่างไร และตั้งเป้าหมายให้และคอยให้กำลังใจ เมื่อเด็กทำสำเร็จก็จะรู้สึกมีความภาคภูมิใจในตัวเองมาก
 
ปล่อยให้เด็กได้เผชิญกับปัญหาหรือความยากลำบากในชีวิตบ้าง
           เด็กควรมีโอกาสได้เรียนรู้วิธีการจัดการกับปัญหาด้วยตัวเอง โดยผู้ใหญ่คอยเฝ้าดู ให้คำแนะนำและเป็นที่ปรึกษาอยู่ห่างๆ เพราะในชีวิตจริง เมื่อเด็กโตขึ้น จะต้องเผชิญกับปัญหาและอุปสรรคต่างๆที่เข้ามาในชีวิต เด็กจึงต้องฝึกทักษะการแก้ปัญหาด้วยตนเอง ฝึกความอดทน รับรู้ถึงอารมณ์ของความผิดหวังเมื่อสิ่งต่างๆไม่เป็นไปตามที่คาดหวังไว้ มีภูมิคุ้มกันที่ทำให้สามารถทนต่อแรงกดดันต่างงในสังคมได้ และมีวิธีระบายความเครียดที่เหมาะสม
 
          หากเด็กมีร่างกายที่สมบูรณ์ มีการเจริญเติบโตดี ได้รับการเลี้ยงดูภายในครอบครัวที่อบอุ่น และมีพัฒนาการตามวัย มีทักษะในการอยู่ร่วมกับบุคคลอื่นในสังคมได้ดี สามารถควบคุมอารมณ์ตนเองได้ดี มีทักษะการแก้ปัญหา มีความอดทน และมีวิธีระบายความเครียดที่เหมาะสม เชื่อว่าเด๋กจะเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่มีความสุข
Scroll